Trendy Review: LG Optimus G
ปกติแล้ว Android Smarthone ตระกูล Nexus นั้น จะได้รับอิทธิพลการดีไซน์จากรุ่นที่จะเป็น Flagship ของแบรนด์ที่ได้ผลิตครับ และ LG Optimus G ก็เป็นหนึ่งในนั้นนั่นแหละ ดีไซน์ของมันก็เลยได้อารมณ์ของ Nexus 4 มา แต่ไม่ถึงกับเหมือนเป๊ะ 100% หรอกนะครับ
ด้านหน้าเป็นหน้าจอ True HD IPS LCD ขนาด 4.7 นิ้ว มีความละเอียดหน้าจอแบบเด็กแนว คือ 1280x768 พิกเซล (318ppi) รองรับการสัมผัสพร้อมๆ กัน 10 จุด แสดงผลสีได้ 16 ล้านสี และใช้ Gorilla Glass 2 ในการป้องกันรอยขีดข่วนบนหน้าจอ
ด้านหลังก็ยังเป็นกระจกครับ เพื่อให้มันดูหรูหราไฮโซ และแน่นอน ใช้ Gorilla Glass 2 เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนด้วยเช่นกัน มีกล้องดิจิตอลความละเอียด 13 ล้านพิกเซลพร้อม LED Flash แล้วก็ลำโพงตรงด้านล่างของตัวเครื่อง
ด้านบนมีแค่ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. และรูไมโครโฟนสำหรับฟีเจอร์ Active Noise Cancellation สำหรับป้องกันเสียงรบกวนเวลาโทรศัพท์ ส่วนด้านล่างก็เป็นพอร์ต Micro USB สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และชาร์จแบตเตอรี่ และรูไมโครโฟนสำหรับสนทนาโทรศัพท์
ด้านซ้ายมีปุ่มปรับระดับเสียง และถาดใส่ Micro SIM Card ที่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะในการจิ้มเพื่อถอดถาดออกมา ส่วนด้านขวามือแค่ปุ่มเปิดปิดหน้าจอเท่านั้นเอง
ในภาพรวม เจ้านี่มีดีไซน์สวยหรู ตามแบบของ LG ซึ่งใช้สไตล์คล้ายๆ กับตอนที่เป็น Nexus 4 ครับ แต่ว่าไม่เหมือนเป๊ะ 100% แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังของ LG Optimus G จะเป็น Gorilla Glass 2 ทั้งคู่ แต่ผมยืนยันว่า ควรติดฟิล์มกันรอยดีกว่า จะได้สบายใจนะครับ เพราะฝุ่นละเอียดบางชนิด มันแข็งพอที่จะกรีดกระจกให้เป็นรอยได้นะครับ การเปลี่ยนไม่ใช่ถูกๆ ด้วย ฉะนั้น เสียเงินค่าฟิล์มนิดหน่อย ย่อมดีกว่าแน่นอน
มาดูสเปกและประสิทธิภาพของ LG Optimus G ดีกว่า
ในขณะที่ Nexus 4 จะจัดสเปกมาแบบกั๊กๆ ตามสไตล์ของตระกูล Nexus แต่ LG Optimus G นี่ แม้จะดีไซน์คล้าย Nexus 4 แต่สเปกนั้นไม่ได้โดนกั๊กอะไรขนาดนั้นนะครับ มาดูที่สเปกของ LG Optmus G กันดีกว่า ว่าเป็นยังไง
CPU: Qualcomm APQ8064 Snapdragon S4 Quad-core 1.5GHz
GPU: Adreno 320
Display: True HD IPS LCD 1280×768 พิกเซล (318ppi) รองรับการสัมผัสพร้อมกันสูงสุด 10 จุด
RAM: 2GB
Internal Storage: 32GB
External Storage: ไม่รองรับ
Camera: ด้านหน้า 1.3 ล้านพิกเซล ด้านหลัง 13 ล้านพิกเซล พร้อม LED Flash
Connectivity
o 2G: 850/900/1800/1900MHz
o 3G: ต้องดูเลขรุ่น E975 เป็น 900/2100MHz ส่วน E973 กับ E971 เป็น 850/1900/2100MHz
o WiFi: 802.11a/b/g/n Dual-band
o Bluetooth: 4.0 + A2DP
Dimensions: 131.9 มม. x 68.9 มม. x 8.5 มม.
Battery: 2,100mAh
Weight: 145 กรัม
โดยสเปก ก็ระดับเดียวกับ Nexus 4 นั่นแหละครับ เว้นแต่ว่าใช้กล้องดิจิตอลความละเอียดสูงกว่า คือเป็น 13 ล้านพิกเซล แล้วก็จัด Internal Storage มาให้แบบเต็มๆ 32GB เลย (เพราะเจ้านี่ไม่สามารถเพิ่มความจุด้วย MicroSD Card ได้)
ประสบการณ์ในการใช้งาน LG Optimus G
User Interface ของ LG Optimus G ทำออกมาดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นครับ เมื่อก่อนจะใช้ไอคอนที่ดูน่ารักไปนิดนึง แต่งวดนี้ดูเป็นทางการมากขึ้น และแม้ว่าจะเป็น Android Jelly Bean ไปแล้ว แต่ LG ออกแบบ UI มาให้ใช้งานง่าย สามารถเพิ่ม Widget ลงไปในหน้า Home Screen ได้ง่าย สามารถเปลี่ยน Wallpaper ได้ง่ายด้วย
โดยส่วนตัว ขอบอกว่า แอบชอบ UI ใช้ง่ายๆ ตามสไตล์ LG Optimus G นี่ครับ นอกจากนี้ Notification bar ก็ทำออกมาได้ดีครับ มีทั้งตัว Toggle ที่ช่วยให้เปิดปิดฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น WiFi, NFC, Bluetooth ฯลฯ แล้วยังมี QSlide apps ที่ช่วยให้เรียกใช้งาน App ต่างๆ ได้รวดเร็วด้วย (ซึ่งการเอา Shortcut icon มาไว้ตรงนี้ จะช่วยให้เราเอาเนื้อที่ใน Home Screen ไปไว้วาง Widget แทนได้)
นอกจากนี้ ก็ยังมี App อำนวยความสะดวกอื่นๆ อีก เช่น Quick Memo ที่เป็นระบบจดโน้ตแบบทันใจ กดปุ๊บมันจะจับภาพหน้าจอ ให้เราพร้อมขีดๆ เขียนๆ ลงไปได้เลย ซึ่งเรียกใช้งานไม่ยาก แค่กดปุ่ม Volume Up + Volume Down พร้อมกัน หรือจะกดปุ่มตรงกลางที่อยู่ระหว่างปุ่ม Volume Up กับ Volume Down ก็ได้ครับ ... พิจารณาตำแหน่งของปุ่มแล้ว ก็กดได้ง่าย เรียกใช้ได้รวดเร็ว สมชื่อ
ถ้าต้องการใช้ Quick Memo ให้เวิร์กสุดๆ แนะนำว่าหา Capacitive Stylus ดีๆ ซักตัวไว้ใช้คู่กัน จะได้ขีดๆ เขียนๆ สะดวกขึ้นครับ
นอกจากนี้ LG ก็ยังมี App อื่นๆ มาให้ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ ด้วยครับ ได้แก่
LG Smart World ซึ่งก็คือ ศูนย์รวมพวก App ต่างๆ ให้ดาวน์โหลดนั่นเอง จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องมี LG ID ด้วยนะครับ
Safety Care คือ การตั้งค่าเพื่อให้สามารถส่งข้อความไปหาที่อยู่ติดต่อที่เราเลือกไว้ได้ ซึ่งตั้งได้ 3 กรณี คือ เกิดกรณีฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ, ไม่มีการใช้โทรศัพท์เป็นเวลานาน และ แจ้งที่อยู่ให้ทราบ
Quick Translator เป็นโปรแกรมที่ใช้งานคู่กับ โปรแกรม Dictionary ที่มาพร้อมกับตัวเครื่องครับ (ต้องดาวน์โหลด Dictionary เพิ่ม มีแปลได้หลายภาษา) จากนั้น เราจะสามารถใช้กล้องถ่ายรูป เพื่อจับภาพ (ไม่ต้องถ่ายนะ) ทั้งแบบเป็นคำ เป็นบรรทัด หรือ เป็นกลุ่มคำก็ได้
SmartShare ก็คือฟีเจอร์ในการแชร์ไฟล์มัลติมีเดียไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านของคุณ ผ่านเทคโนโลยี DLNA ครับ
Video Wiz ที่เป็นโปรแกรมตัดต่อวิดีโอแบบง่ายๆ (ที่ง่ายกว่า Video Editor ที่มากับตัวเครื่อง) เพราะมีเครื่องมือคอยช่วย
ลองเอา LG Optimus G มาใช้งานด้านมัลติมีเดีย
ด้วยสเปกระดับ Quad-core CPU/GPU แบบนี้ LG Optimus G สามารถรับชมไฟล์วิดีโอ 1080p ได้สบายๆ ไม่กระตุกแต่อย่างใด หน้าจอความละเอียดสูง 1280x768 พิกเซล ก็ช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดดีในระดับหนึ่ง สีสันของภาพ และมุมมองก็กว้างดี เป็นอานิสงส์จากจอ True HD IPS LCD ครับ
คุณภาพของลำโพงของตัวเครื่อง LG Optimus G นั้น ให้น้ำหนักเสียงที่ดี แน่น และชัดเจน เพียงแต่มีจุดด้อยตรงที่เสียงในความถี่ย่านกลางนั้นไม่ชัดเจนเท่าไหร่ และยังขาดเสียงสูงช่วงไปบ้าง แต่เมื่อใช้งานกับหูฟังแล้ว เสียงที่ได้ก็ฟังดูอิ่ม ย่านเสียงมีความสมดุลกันดี ไม่มีอะไรโดดเด่นจนเกินไป แต่ข้อเสียคือยังไม่สามารถแยกย่านเสียงได้ดีเท่าไหร่ ทำให้เสียงที่ได้ขาดความชัดเจนของมิติ แต่ก็ไม่ถึงกับแย่นะครับ
ลองเอา LG Optimus G มาเล่นเกมดูบ้าง
เช่นเดียวกับตอนเล่นไฟล์มัลติมีเดียครับ ด้วยสเปกระดับ Quad-core CPU/GPU แล้ว การเล่นเกม 3D ทั้งหลายในปัจจุบัน คงไม่มีตัวไหนที่เล่นแล้วกระตุกล่ะครับ และคิดว่าคงยังรองรับเกม 3D ในอนาคตไปได้อีกพักใหญ่ๆ แน่นอน
ลองเล่นเกม Asphalt 7: Heat บน LG Optimus G ดูก็พบว่ากราฟิกที่ได้ ดูดี เอฟเฟ็กต์ต่างๆ ครบถ้วนดีครับ ดูจากรูปด้านบน จะเห็นได้ว่าพวกแสงอาทิตย์ ควัน ไฟสปาร์คเวลารถเบียดกัน หรือแม้แต่เงาสะท้อนของสิ่งแวดล้อมที่ส้อนท้อนบนตัวรถ ก็ครบถ้วนดี และเป็นแบบ Real-time เลย
การถ่ายรูปและวิดีโอด้วย LG Optimus G
ตอนนี้ LG ทำ User Interface ของ Camera App ได้ค่อนข้างโอเคแล้วครับ นอกจากนี้ก็มีฟีเจอร์ต่างๆ เพิ่มเข้ามาด้วย เช่น Time Catch ที่มีแนวคิดว่า เวลาเรากดชัตเตอร์ถ่ายรูปแล้ว บ่อยครั้งที่เราพลาดจังหวะเด็ดๆ ไป เพราะกดชัตเตอร์ช้าไปหน่อย ... ฟีเจอร์ Time Catch นี้ จะทำการถ่ายรูปภาพ 4 ช็อตก่อนหน้าที่จะกดชัตเตอร์ (จริงๆ คือ เมื่อเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ มันจะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นระยะๆ เมื่อเรากดชัตเตอร์แล้ว มันก็จะเอา 4 รูปล่าสุดก่อนที่จะกดชัตเตอร์มาแสดงให้ดูด้วย) ดังนั้น เราเลยมั่นใจได้ว่าเราจะไม่พลาดจังหวะเด็ดๆ ไป แม้ว่าเราจะกดชัตเตอร์ช้าไปเสี้ยววินาที
คุณภาพของภาพถ่ายก็อยู่ในเกณฑ์โอเคครับ แต่ว่าจริงๆ เราน่าจะคาดหวังอะไรได้มากกว่านี้ จากกล้องดิจิตอลความละเอียดระดับ 13 ล้านพิกเซลนะ ... โดยส่วนตัว ผมมองว่าแบรนด์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันน่าจะพักไว้ที่ 8 ล้านพิกเซลก็พอแล้ว แต่หากทางพัฒนาให้สามารถถ่ายรูปได้ดีขึ้นดีกว่า เช่น ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ มีชัตเตอร์สปีดที่เร็วขึ้น อะไรแบบเนี้ย
ด้านวิดีโอ คุณภาพค่อนข้างจะ OK เช่นเดียวกัน และด้วยสเปกฮาร์ดแวร์ จึงสามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดระดับ Full HD 1080p ได้สบายๆ ครับ เพียงแต่ข้อเสียคือ ฟีเจอร์ Tap-to-Focus ที่สามารถปรับได้ทั้ง Focus และ Exposure ของภาพ กลับไม่สามารถเรียกใช้งานได้ในโหมดถ่ายวิดีโอเลย น่าเสียดายจริงๆ
บทสรุปของการรีวิว LG Optimus G
ณ ตอนนี้ เจ้านี่คือ Android Smartphone ที่ดีที่สุดจากค่าย LG ที่มาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว (แต่ผมและเพื่อนๆ ยังแอบงงอยู่ว่า ทำไมไม่เอา LG Optimus G Pro มาแทน) จุดขายของเจ้านี่คือ สเปกระดับไฮเอนด์ ในระดับราคาที่ถูกกว่าไฮเอนด์ค่ายอื่นอยู่นิดหน่อย (2-3 พันบาท) ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนว่าจะเลือกที่จ่ายเงินถูกกว่า เพื่อได้ Android Smartphone ระดับไฮเอนด์ แต่ความละเอียดไม่สูงมาก (เอา LG Optimus G) หรือจะเอาสเปกไฮเอนด์ และหน้าจอความละเอียดสูง (ค่ายอื่นๆ เช่น Sony Xperia Z, HTC One, Samsung Galaxy S4) กัน
คงเดช กี่สุขพันธ์
E-Mail: kafaak@gmail.com
Twitter: http://www.twitter.com/kafaak
Facebook: http://www.facebook.com/kafaakBlog
Google+: http://bit.ly/kafaakGPlus
Blog: http://www.kafaak.com
Sign up here with your email